วารสารคลินิก
ความสัมพันธ์ระหว่างจิตใจและผิวหนัง
(The Mind and Skin Connection)
ตอนที่ 1...โรคผิวหนังที่เกี่ยวข้องกับโรคทางใจ
ประวิตร พิศาลบุตร พ.บ. , เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง Diplomate, American Board of Dermatology Diplomate, American Subspecialty Board of Dermatological Immunology อาจารย์พิเศษภาควิชาเภสัชกรรม, คณะเภสัชศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข,สภาผู้แทนราษฎร
ความเครียดส่งผลเสียต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น ทำให้ลืมง่าย, ไม่มีสมาธิในการทำงาน, หงุดหงิด, โมโหง่าย, ติดยาเสพติด, ปวดท้อง, ปัสสาวะบ่อย, ปวดหัว, นอนไม่หลับ, นอนกัดฟัน ความเครียดยังทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด, ความดันโลหิตสูง, แผลในกระเพาะอาหาร, หืด, ต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ และ โรคจิตโรคประสาท นอกจากนั้นความเครียด หรือความผิดปกติทางจิตใจ ยังมีความสัมพันธ์กับผิวหนังดังนี้
ความสัมพันธ์ระหว่างจิตใจและผิวหนัง
แบ่งลักษณะความสัมพันธ์ได้เป็น 3 กลุ่ม
1. กลุ่มที่เป็นโรคผิวหนังโดยตัวเองอยู่แล้ว แต่ปัจจัยทางอารมณ์และความเครียดกระตุ้นให้โรคกำเริบ (Psychophysiological)
เช่น สิว, ผมร่วงเป็นหย่อม, ผิวหนังอักเสบเอ็กซีมา (eczema) เช่น โรคผิวหนังภูมิแพ้ (atopic dermatitis), เริม (herpes simplex), เหงื่อออกมาก (hyperhidrosis), คัน (pruritus), สะเก็ดเงิน (psoriasis), ลมพิษ (urticaria) และ หูด อย่างไรก็ตามอาการคันมากๆ หรือเหงื่อออกมาก ก็อาจเป็นอาการของโรคที่มีสาเหตุจากทางร่างกาย ที่ถ้ารักษาสาเหตุแล้ว อาการทางผิวหนังก็อาจดีขึ้นได้
2. กลุ่มโรคผิวหนังเป็นตัวทำให้จิตป่วย (Secondary psychiatric)
โรคผิวหนังเป็นตัวทำให้จิตป่วยได้ พบว่าโรคผิวหนังที่ลักษณะภายนอกไม่น่าดู หรือน่ารังเกียจ เช่น สิวที่รุนแรง (severe forms of acne), สะเก็ดเงิน, ด่างขาว (vitiligo) และ เริม ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอับอาย, สูญเสียความมั่นใจในตนเอง, ทำให้เกิดความกังวลและความเครียด เหล่านี้ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง มีรายงานการศึกษาหนึ่งชี้ว่า ผู้ที่เป็นสะเก็ดเงินและสิวที่รุนแรง มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นสองเท่าของคนไข้โรคทั่วไป
3. กลุ่มโรคทางจิตที่มีอาการทางผิวหนัง (Primary psychiatric)
พบว่าความผิดปกติทางผิวหนังบางอย่างเป็นอาการของโรคทางใจโดยตรง เช่น ดึงผมเล่นจนร่วง (trichotillomania), เชื่อว่ามีพยาธิหรือแมลงไต่ตามผิวหนัง (delusional parasitosis), ไม่พอใจในรูปร่างหน้าตาของตนเอง (body dysmorphic disorder) และ แกะเกาผิวตัวเองจนเป็นแผล (dermatitis artefacta)
ความเครียดทำให้เกิดโรคผิวหนังหลายอย่าง
พบว่าความเครียดและผลจากจิตใจทำให้เกิดโรคผิวหนังหลายอย่าง ปัจจุบันในต่างประเทศจึงมีการตั้งอนุสาขาวิชาใหม่คือ ตจจิตวิทยา หรือ จิตวิทยาโรคผิวหนัง (psychodermatology) ที่เน้นศึกษาผลกระทบของสภาพจิตใจต่อผิวหนัง พบว่าผู้ป่วยโรคผิวหนังมีปัจจัยทางด้านจิตใจร่วมด้วย ที่พบบ่อย คือ สิว, สะเก็ดเงิน, โรคผิวหนังภูมิแพ้ ตจจิตวิทยาเป็นการดูแลรักษาโรคผิวหนังโดยใช้เทคนิคทางจิตวิทยาและจิตเวชศาสตร์ ประมาณกันว่า ผู้ป่วยโรคผิวหนัง ร้อยละ 30-60 มีความเครียด, ความผิดปกติทางอารมณ์ และ ภาวะทางจิตเวชร่วมด้วย ทำให้การรักษาโดยทางยาอย่างเดียวมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ
ความเครียดส่งผลเสียต่อผิวได้อย่างไร ?
พบว่าเมื่อเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียด คือ คอร์ติซอล (cortisol) ทำให้ต่อมไขมันทำงานมากขึ้น เกิดอาการผิวมัน, สิว และโรคผิวหนังอื่น ๆ ความเครียดยังส่งผลทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายต่ำลง ทำให้ผิวหนังติดเชื้อง่าย เกิดโรคเริมกำเริบ, งูสวัด (herpes zoster), แผลหายช้า และมะเร็งผิวหนังสูงขึ้น นอกจากนั้นความเครียดยังกระตุ้นให้เกิดโรคผิวหนังอีกหลายโรค เช่น โรคเซ็บเดิม (seborrheic dermatitis) ซึ่งมีอาการเป็นผื่นแดงตามหน้าผาก, แก้ม, คิ้ว และแนวไรผม ความเครียดทำให้เกิดโรคผิวหนังภูมิแพ้, โรคสิว ทั้งสิวอักเสบธรรมดา และสิวแปลกๆ เช่น สิวหน้าแดง (rosacea), สิวแกะเกา (acne excoriee) ที่เกิดจากการบีบและแกะสิวอย่างมาก จนเมื่อตรวจดูผิวหนังแล้วไม่พบรอยโรคของสิว พบแต่รอยถลอก, แผล และแผลเป็น, ทำให้ผมร่วง ทั้งร่วงทั่วศีรษะ (alopecia totalis), ร่วงเป็นหย่อม (alopecia areata), ร่วงจากการดึง (trichotillomania) ความเครียดยังทำให้เป็นด่างขาว, ลมพิษ, สะเก็ดเงินโรค, คันหนังศีรษะ, คันผิวหนังและเกา จนเป็นตุ่มนูน (prurigo nodularis) หรือเป็นปื้นหนาแข็งเหมือนเปลือกไม้ (lichen simplex chronicus), รู้สึกว่ามีแมลงไต่หรือพยาธิไชผิวหนัง (delusional parasitosis), แกะเกาผิวจนเป็นแผล, มีกลิ่นตัว (bromhidrosis) และ เป็นแผลในปาก (aphthous ulcer) พบว่าบทบาทของความเครียดต่อโรคด่างขาว, lichen planus, โรคสิว, pemphigus, โรคเซ็บเดิม ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ส่วนบทบาทของความเครียดต่อ สะเก็ดเงิน , ผมร่วงเป็นหย่อม, โรคผิวหนังภูมิแพ้ในเด็ก และลมพิษนั้น เป็นที่เห็นได้ชัดเจนกว่า ความเครียดยังทำให้เป็นฝ้าได้ บางคนเวลาเครียดจะกัดเล็บ (onychophagia), ซึ่งนอกจากมีผลเสียต่อบุคลิกภาพแล้ว ยังอาจทำให้เกิดการถ่ายทอดเชื้อโรคจากเล็บเข้าสู่ปาก ที่สำคัญอีกอย่างคือความเครียดทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าเกร็งตัว เกิดเป็นรอยย่นลึกที่ใบหน้า เช่น ที่หน้าผาก และหัวคิ้ว
โรคผิวหนังที่ไม่น่าดูส่งผลเสียต่อจิตใจ
มีงานวิจัยแสดงว่า การพิจารณาระดับความรุนแรงของโรคสะเก็ดเงินนั้น การประเมินถึงความรุนแรงของโรคที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย สำคัญกว่าการประเมินโดยการวัดจากปริมาณเนื้อที่ผิวหนังที่เป็นโรค เนื่องจากผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินส่วนใหญ่อายุไม่มาก คือ 18 - 45 ปี ทำให้มีปัญหาในการทำงานและการเข้าสังคม ดังนั้นในการรักษาโรคผิวหนังที่แม้ไม่เป็นอันตราย แต่มีผื่นให้เห็นชัดเจนจนน่ารังเกียจ เช่น โรคสะเก็ดเงิน อาจต้องให้การรักษาเต็มที่เช่นกัน ในผู้ป่วยโรคผิวหนังที่มีอาการซึมเศร้าร่วมกับอาการคัน เช่นในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน และโรคผิวหนังภูมิแพ้ พบว่าถ้ายิ่งมีอาการคันมากขึ้นความซึมเศร้าก็มากขึ้นด้วย ถ้ารักษาอาการคันจนน้อยลง ความซึมเศร้าก็ลดตาม ในโรคสะเก็ดเงินก็เช่นกัน ถ้าผื่นกำเริบมากขึ้นความซึมเศร้าก็เพิ่มตาม แต่ในสิวนั้นพบว่าในบางรายแม้เป็นสิวเพียงนิดเดียว ผู้ป่วยสิวอาจซึมเศร้ารุนแรงสูงพอกับคนที่เป็นสะเก็ดเงินอย่างรุนแรง พบว่าในโรคสิวนั้นความรุนแรงของโรคไม่ได้ผันแปรโดยตรงกับความซึมเศร้า คือเป็นสิวนิดเดียวอาจซึมเศร้ามากกว่าคนที่เป็นสิวมากก็ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นสิวทุกระดับตั้งแต่เป็นน้อยจนเป็นมาก หากรักษาสิวแล้วอาการทางจิตใจจะดีขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากสิวเป็นมากในวัยรุ่นที่เป็นช่วงที่กังวลต่อรูปลักษณ์ของตนเองมากอยู่แล้ว ผู้ป่วยโรคผิวหนังที่มีความซึมเศร้าอาจเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย พบว่าผู้ป่วยสิวที่เป็นน้อยจนปานกลางร้อยละ 5.6 เคยมีความคิดฆ่าตัวตาย และในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินขั้นรุนแรง ร้อยละ 5.5 เคยมีความคิดฆ่าตัวตาย
จากการประชุมของแพทย์ผิวหนังทั่วโลก เสนอว่า ต้องรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจว่าสิวเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ซึ่งทั่วไปแพทย์สามารถรักษาสิวให้หายได้แต่มักกลับเป็นซ้ำได้บ่อย ความเข้าใจที่ถูกต้องว่าสิวเป็นโรคเรื้อรังและต้องรักษาต่อเนื่อง จะลดการกลับเป็นซ้ำและข้อแทรกซ้อนจากการเป็นสิว เช่น แผลเป็น ลงได้มาก สิวที่ไม่ได้ดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ทำให้เกิดแผลเป็นทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจ ซึมเศร้า และกระวนกระวาย ทั้งยังมีงานวิจัยแสดงว่าผู้เป็นสิวมีโอกาสตกงาน และไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งมากกว่าผู้ที่ไม่เป็นสิว
รักษาโรคผิวหนังต้องเยียวยาทางจิตใจด้วย
เนื่องจากโรคผิวหนังหลายชนิดมีความสัมพันธ์กับสภาพจิตใจมาก การรักษาโรคผิวหนังเหล่านี้จึงต้องเยียวยาทางจิตใจด้วย โรคผิวหนังที่ใช้ตจจิตวิทยาในการรักษาบ่อยที่สุด ได้แก่ โรคสะเก็ดเงิน, โรคผิวหนังอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ (eczema), ลมพิษ, เริมที่อวัยวะเพศและปาก, สิว, หูด, อาการแพ้ของผิวหนัง, อาการเจ็บและปวดแสบปวดร้อนของผิวหนัง, อาการย้ำทำที่จะแกะผิวหนังและดึงเส้นผม (compulsive skin picking and hair pulling) ใช้ตจจิตวิทยาเป็นการรักษาหลักในการรักษาโรคบางชนิด เช่น โรคผมร่วงจากการดึง (trichotillomania) ใช้ดนตรีบำบัด (music therapy) รักษา atopic eczema เทคนิคที่นำมาใช้โรคเหล่านี้ เช่น การผ่อนคลาย (relaxation), การทำสมาธิ (meditation), การสะกดจิต (hypnosis), การสะกดจิตตัวเอง(self-hypnosis), พฤติกรรมบำบัด และ การใช้ยาทางจิตเวช
มีการนำยาที่ใช้รักษาโรคจิตและโรคประสาท (psychotropic and neurotropic agents) หลายขนานมารักษาโรคผิวหนัง เช่น อาการย้ำคิดย้ำทำ (obsessive compulsive skin manipulation), delusions of parasitosis, อาการคันทั่วร่างกาย (generalized pruritus), และอาการปวดหลังเป็นโรคงูสวัด (post-herpetic neuralgia) กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มนี้คือมีปฏิกิริยาที่ central และ peripheral neuronal receptors ยากลุ่มนี้ได้แก่ tricyclic antidepressants, serotonin reuptake inhibitors, naltrexone, pimozide และ gabapentin อาจเลือกใช้ยาเหล่านี้ หรือปรึกษาจิตแพทย์ในการใช้ยาเหล่านี้ตามความเหมาะสม
การสะกดจิตรักษาโรคผิวหนัง
มีการทดลองแสดงว่า การสะกดจิตช่วยลดอาการเจ็บปวดในการผ่าตัดผิวหนัง และใช้การสะกดจิตรักษาโรคผิวหนังบางชนิด โรคผิวหนังที่ใช้การสะกดจิตรักษาโรคผิวหนังได้ผล โดยเรียงตามลำดับความน่าเชื่อถือของงานวิจัย ได้แก่
1. กลุ่มที่มีงานวิจัยชนิดเชิงทดลองที่มีการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง (randomized controlled trials) ได้แก่ หูด, โรคสะเก็ดเงิน
2. กลุ่มที่มีงานวิจัยชนิดเชิงทดลองที่ไม่มีการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง (nonrandomized controlled trials) ได้แก่ โรคผิวหนังภูมิแพ้
3. กลุ่มที่มีรายงานผู้ป่วยหลายรายงาน (case series) เช่น โรคผมร่วงเป็นหย่อม, ลมพิษ
4. กลุ่มที่มีรายงานผู้ป่วยรายเดียว (individual case reports) ได้แก่สิวแกะเกา (acne excoriee), โรคเกล็ดปลาชนิด ichthyosis vulgaris และชนิด congenital ichthyosiform erythroderma, ผิวหนังอักเสบมีตุ่มน้ำใส (dyshidrotic dermatitis), erythema nodosum, erythromelalgia, furuncles, glossodynia, เริม, เหงื่อออกมาก (hyperhidrosis), lichen planus, neurodermatitis, nummular dermatitis, postherpetic neuralgia, pruritus, rosacea, trichotillomania และ vitiligo
งานวิจัยที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างจิตใจและผิวหนัง
มีจำนวนมาก ขอยกตัวอย่างพอสังเขป เช่น การศึกษาว่าความเครียดทางจิตใจส่งผลลบต่อการทำหน้าที่การป้องกันการซึมผ่านของผิวหนัง พบว่าโรคผิวหนังหลายชนิด เช่นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง และโรคสะเก็ดเงิน ถูกกระตุ้นและทำให้กำเริบได้จากความเครียดทางจิตใจ อย่างก็ตามยังไม่ทราบแน่ชัดว่าความเครียดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิวิทยาได้อย่างไร จากการทดลองในหนูพบว่า ความเครียดทางจิตใจส่งผลลบต่อการทำหน้าที่การป้องกันการซึมผ่านของผิวหนัง และการให้ยาระงับความเครียดแก้ไขความผิดปกติของการป้องกันการซึมผ่านได้
จึงมีผู้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดทางจิตใจ และการทำหน้าที่การป้องกันการซึมผ่านของผิวหนัง ผลการทดลองพบว่า กลุ่มผู้เข้ารับการทดลองมีการลดลงของการกลับสู่สภาวะปกติของความสามารถในการป้องกันการซึมผ่านของผิวหนังหลังการลอกผิวหนังด้วยเทป การลดลงที่ตรวจพบนี้ขนานไปกับระดับความเครียดทางจิตใจที่เพิ่มขึ้น พบว่าผู้ที่มีความเครียดสูงสุด ก็มีการลดลงของการป้องกันการซึมผ่านของผิวหนังสูงสุดเช่นกัน การศึกษานี้ชี้ว่า ความเครียดส่งผลต่อการทำหน้าที่ของผิวหนังในมนุษย์จริง
การศึกษาว่าเริมอาจกำเริบจากความรู้สึกขยะแขยง
เชื่อว่าผลทางจิตใจมีส่วนกระตุ้นการกำเริบของเริม ทำการศึกษาในผู้เป็นเริม โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ให้กลุ่มทดลองดูภาพสไลด์ของแก้วน้ำที่สกปรกแล้วตามด้วยแก้วสกปรกของจริงตามรูปถ่าย กลุ่มควบคุมจะดูภาพที่เป็นกลางๆ แล้วตามด้วยวัตถุที่เป็นกลางๆ ตรวจดูอาการใน 48 ชั่วโมงต่อมา ในกลุ่มทดลองมีการกำเริบของเริม ส่วนกลุ่มควบคุมไม่พบว่ามีรายใดที่มีอาการกำเริบของเริม จึงเชื่อว่าความเครียดทางอารมณ์ที่สืบเนื่องมาจากความขยะแขยงน่าจะเป็นปัจจัยกระตุ้นการกำเริบของเริมอย่างหนึ่ง
สรุป
จะเห็นได้ว่าจิตใจและผิวหนังมีความสัมพันธ์กัน โดยแบ่งเป็น กลุ่มที่เป็นโรคผิวหนังโดยตัวเองอยู่แล้ว แต่ปัจจัยทางอารมณ์และความเครียดกระตุ้นให้โรคกำเริบ, กลุ่มโรคผิวหนังเป็นตัวทำให้จิตป่วย และ กลุ่มโรคทางจิตที่มีอาการทางผิวหนัง การรักษาโรคผิวหนังเหล่านี้จึงต้องเยียวยาทางจิตใจด้วย เทคนิคทางตจจิตวิทยาที่ใช้รักษาโรคผิวหนังมีหลายอย่าง เช่น การสะกดจิตรักษาโรคผิวหนัง และการใช้ยากลุ่มรักษาโรคจิตและโรคประสาท ปัจจุบันมีงานวิจัยที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างจิตใจและผิวหนังมากขึ้นเรื่อยๆ แพทย์เวชปฏิบัติควรมีความรู้พื้นฐานในเรื่องนี้เพื่อใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วย หรือส่งต่อผู้ป่วยให้ตจแพทย์ และ/หรือ จิตแพทย์ตามความเหมาะสม ในตอนต่อไปจะกล่าวถึงความผิดปกติชนิดโซมาโตฟอร์มของผิวหนัง
ตีพิมพ์ในวารสารคลินิก สนพ.หมอชาวบ้าน กรกฎาคม 2553
No comments:
Post a Comment